ประวัติโรงเรียน

               โรงเรียนหนองจอกพิทยานุสสรณ์มัธยม ตั้งอยู่เลขที่ 31/7 หมู่ 9 ถนนมิตรไมตรีแขวงหนองจอกเขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2464 เป็นโรงเรียนแห่งแรกในอำเภอหนองจอก ที่เปิดสอนในระดับมัธยม มีนายฮัจยีการีม มะกูดี เป็นผู้รับใบอนุญาตคนแรก และเมื่อแรกตั้งใช้ชื่อว่า อัลบิดายะห์ จากนั้นได้มีการเปลี่ยนแปลงมาตามลำดับคือ หนองจอกพิทยาพูน นุรุลอิสลาม มัธยมศิริศิลป์จนถึงเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2488 จึงได้ขออนุญาตเปลี่ยนชื่อเป็น หนองจอกพิทยานุสสรณ์ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2534 จึงได้ขออนุญาตเพิ่ม คำว่า มัธยม ลงท้ายชื่อโรงเรียน ปัจจุบันจึงมีชื่อเต็มว่า “โรงเรียนหนองจอกพิทยานุสสรณ์มัธยม”และในปี พ.ศ.2546ได้ขยายเพิ่มเติมในระดับชั้นเรียน ม. 4 – ม.6 ปัจจุบันโรงเรียนหนองจอกพิทยานุสสรณ์มัธยมเปิดสอนในระดับชั้น ม.1 – ม.6

               โรงเรียนหนองจอกพิทยานุสสรณ์มัธยม เป็นโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนกระทรวงศึกษาธิการ เป็นโรงเรียนสามัญมีสอนเสริมวิชาศาสนาอิสลามในเวลาเรียนตามปกติ ฉะนั้นนักเรียนทุกคนจึงต้องเรียนวิชาศาสนา รวมทั้งการปฏิบัติศาสนกิจ เช่น ไปละหมาดรวมกันที่มัสยิด ซึ่งตั้งอยู่ใกล้โรงเรียน ถือศีลอดในเดือนรอมฎอน พร้อมกับการอ่านและท่องจำอัล-กุรอ่านซูเราะห์ต่างๆ หมุนเวียนกันคือ ซูเราะห์ยาซีน อัลมุลกุอัลวากีอะห์ บางส่วนของซูเราะห์อัลบากะเราะห์ และบางส่วนของซูเราะห์อัลกะห์ฟีพร้อมกันในตอนเช้า ช่วงกิจกรรมหน้าเสาธง และในชั้นสูงสุดนักเรียนทุกคนต้องสอบวิชาศาสนาให้ได้ตามเกณฑ์ด้วยจึงจะจบหลักสูตรตามข้อตกลงของโรงเรียน

               ความมุ่งหมายเดิมของผู้ก่อตั้งโรงเรียน ต้องการให้มีโรงเรียนในพื้นที่ เพื่อให้ลูกหลานของทุกคนในชุมชนได้มีโอกาสรับการศึกษาอย่างทั่วถึง รวมถึงมีจุดประสงค์ให้เยาวชนได้ศึกษาทั้งด้านศาสนาและวิชาสามัญซึ่งนโยบายนี้ โรงเรียนได้ดำเนินนโยบายสืบสานต่อมาจนถึงปัจจุบัน และถือว่านักเรียนทุกคนเป็นดั่งบุตรหลานจึงดูแลเอาใจใส่ดูแล อย่างใกล้ชิด ทั้งความประพฤติและการเรียน อันส่งผลให้นักเรียนได้ศึกษาต่อในระดับสูงขึ้นไปและสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิต เป็นเยาวชนที่ดี มีความรู้ควบคู่คุณธรรม สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ตนเอง และสังคม อันส่งผลถึงการเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมสืบไป

ปัจจุบันโรงเรียนได้เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 6 ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายได้
เปิดสอน 2 แผนการเรียน คือ

  • แผนการเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์
  • แผนการเรียนภาษาอังกฤษ-ภาษาอาหรับ

อัตลักษณ์โรงเรียน
แต่งกายเด่น เน้นคุณธรรม มีความพากเพียร รักสามัคคี มีวินัย

  1. แต่งกายเด่น หมายถึง ผู้เรียนแต่งกายถูกต้องตามระเบียบของโรงเรียน และถูกต้องตามหลักของศาสนาอิสลาม
  2. เน้นคุณธรรม หมายถึง ผู้เรียนเป็นผู้ที่มีจิตอาสา รักษาความสะอาด รักษาสิ่งแวดล้อม มีความกตัญญู
    มีสัมมาคารวะมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ซื่อสัตย์สุจริต ต่อต้านยาเสพติด ปฏิบัติตนตามหลักศาสนา
  3. มีความพากเพียร หมายถึง ผู้เรียนมีความอดทน ขยันหมั่นเพียร รักความก้าวหน้า มีความมุ่งมั่นในการ
    ทำงานตามที่ได้รับมอบหมาย มีความตั้งใจ และมีเป้าหมายของอนาคต
  4. รักสามัคคี หมายถึง ผู้เรียนมีความรักใคร่ปรองดอง เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีความเผื่อแผ่ ช่วยเหลือ
    ซึ่งกันและกัน มีน้ำใจต่อกันระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง ดั่งคติประจำใจที่ว่า รักเพื่อน นับถือพี่ เคารพครู กตัญญูพ่อแม่
    ดูแลน้อง
  5. มีวินัย หมายถึง ผู้เรียนเป็นผู้มีระเบียบ ปฏิบัติตามกฎระเบียบของโรงเรียน รักษาคำพูด มีความตรงต่อเวลา
    รู้จักกาลเทศะ มีความรับผิดชอบ มีความเชื่อมั่นในตนเอง รู้จักเสียสละ และมีความเห็นใจผู้อื่น เป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี

เอกลักษณ์โรงเรียน

เรียนดี มีเทคโนโลยี แต่งกายตามศาสนาบัญญัติ เรียนศาสนาและภาษาอาหรับ

  1. เรียนดี หมายถึง ผู้เรียนตั้งใจศึกษาเล่าเรียนทั้งทางด้านสายสามัญและด้านศาสนาเต็มตามศักยภาพของตนมีการพัฒนาด้านการเรียนเพื่อแข่งขันและศึกษาพัฒนาสู่ระดับสากล
  2. มีเทคโนโลยี หมายถึง ผู้เรียนมีความรู้ มีทักษะในการใช้และรู้จักนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการศึกษา และพัฒนาเพื่อการเรียนรู้ สร้างผลงานพร้อมนำไปประกอบอาชีพ ทันต่อการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมุ่งสู่ความเป็นเลิศ
  3. แต่งกายตามศาสนาบัญญัติ หมายถึง ผู้เรียนแต่งกายถูกต้องตามระเบียบของโรงเรียน ถูกต้องตามหลักการของศาสนาอิสลาม เหมาะสมกับกาลเทศะ มีมารยาทตามหลักของศาสนา มีความมั่นใจในตนเอง เป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม
  4. เรียนศาสนาและภาษาอาหรับ หมายถึง ผู้เรียนมีความรู้ด้านศาสนาอิสลามควบคู่กับความรู้ด้านสามัญเป็นผู้นำที่ดี สามารถอ่านและเข้าใจภาษาอาหรับเพื่อนำไปปฏิบัติศาสนกิจประจำวัน อยู่ในสังคมได้อย่างดีและมีความสุข

ปรัชญาโรงเรียน
วิชาการดี มีพลานามัย ใฝ่คุณธรรม

วิสัยทัศน์

เราจะผลิตนักเรียนให้เป็นผู้ที่มีความรู้ มีคุณธรรม จริยธรรม มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีสุขภาพกายและ
สุขภาพจิตที่ดี เน้นการปฏิบัติตามหลักศาสนา เพื่อพัฒนาตนเองและดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข
มีความสัมพันธ์กับชุมชนอย่างต่อเนื่อง

การศึกษาในทรรศนะอิสลาม

               การศึกษาในทรรศนะอิสลามนั้นเป็นวิถีชีวิต (Way of life) ไม่ใช่แค่การถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์ทักษะจากชนรุ่นหนึ่ง แต่ความหมายการศึกษาในทรรศนะอิสลามมีความหมายที่กว้างและครอบคลุมทุกด้านการศึกษาเป็นกระบวนการถ่ายทอดความรู้ทั้งทางโลก และทางธรรม เป็นการอบรม ขัดเกลาจิตใจ บ่มเพาะสติปัญญา ร่างกาย และจิตวิญญาณ เพื่อให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีระเบียบวินัย มีคุณธรรมจริยธรรม สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสันติสุข ผู้เรียนที่เป็นเยาวชนของมุสลิม นอกจากจะศึกษาเล่าเรียนฝึกปฏิบัติด้านวิชาการทั่วไปแล้ว ยังจะต้องประพฤติปฏิบัติตามแนวทางของอิสลามด้วย คือ

  1. ผู้เรียนต้องแต่งกายปกปิดตามศาสนาบัญญัติ
  2. ผู้เรียนต้องทักทายตามแบบอย่างอิสลาม หรือสวัสดีตามประเพณีของไทย
  3. ผู้เรียนต้องรับประทานอาหารที่ฮาลาล ไม่ดื่มสิ่งมึนเมา ไม่เสพสิ่งเสพติด
  4. ผู้เรียนต้องละหมาด วันละ 5 เวลา และถือศีลอดในเดือนรอมฎอน
  5. ผู้เรียนต้องมีจริยธรรมตามศาสนาบัญญัติ ตรงต่อเวลา มีความซื่อสัตย์สุจริต มีสัจจะ มีความมัธยัสถ์อ่อนน้อม มีความรับผิดชอบโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
  6. ผู้เรียนต้องไม่เล่นการพนัน ไม่ลักขโมย ไม่ทำลายทรัพย์สินส่วนรวม และปฏิบัติตนตามจริยธรรมอันดีงามของสังคม และไม่กระทำในสิ่งที่ผิดกฎหมาย
  7. ผู้เรียนต้องมีความสุภาพอ่อนโยน มีเมตตา อดทน ให้อภัย อยู่ร่วมกันแบบพี่น้อง รักสามัคคี และมีความเสมอภาค
  8. ผู้เรียนต้องไม่มีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม
  9. ผู้เรียนต้องร่วมกันรักษาความสะอาดร่างกาย ที่อยู่อาศัย สถานศึกษา สถานที่ต่างๆ และรักษาสิ่งแวดล้อม
  10. ผู้เรียนต้องเรียนสามัญ ศาสนา ภาษาอาหรับ และปฏิบัติตามบัญญัติศาสนาที่ได้ศึกษามา
  11. ผู้เรียนต้องมีความกตัญญู แสดงความรัก เชื่อฟังต่อบิดามารดา
  12. ผู้เรียนต้องแสดงความรัก ให้ความเคารพผู้อาวุโส และผู้มีบุญคุณ
  13. ผู้เรียนต้องให้เกียรติต่อศาสนสถาน ไม่ส่งเสียงดัง
  14. ผู้เรียนต้องปฏิบัติศาสนกิจ ปฏิบัติหน้าที่การงานด้วยความเต็มใจ จริงใจ และถูกต้อง
  15. ผู้เรียนต้องไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ตนเองและผู้อื่น